ชุดแปลงไฟ หรือ SOLAR INVERTER

Last updated: 22 ต.ค. 2566  |  7333 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชุดแปลงไฟ หรือ SOLAR INVERTER

          อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า หรือ ที่เรียกกันว่า Inverter เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนของ ระบบโซล่าร์รูฟท็อป โดยเป็นชุดที่มีความสลับซับซ้อน และเกิดปัญหามากที่สุดในกรณีที่ใช้ Inverter ที่ไม่มีคุณภาพ เนื่องจาก ชุด Inverter อาจถูกติดตั้งอยู่ภายนอกอาคาร โดยทั้ง อาจโดนน้ำฝน ละอองฝน ฝุ่น ความชื้น และบางกรณีก็ได้รับแสงแดดโดยตรง และยังต้องผลิตกระแสไฟฟ้า 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นการเลือกใช้ Inverter จึงต้องเลือกที่มีคุณภาพและการรับประกันจากผู้จำหน่าย อายุของ Inverter จะยาวนานขึ้น ถ้าการติดตั้งอยู่ในที่ร่ม ไม่โดนแสงแดด และไม่โดนฝน 

 

 

Solar Inverter มีทั้งหมดกี่ชนิด แตกต่างกันอย่างไร ?

โซล่าร์อินเวอร์เตอร์ (Solar Inverter) ในท้องตลาดปัจจุบันของเรามีอยู่ทั้งหมด 3 ชนิด

1. ออนกริด อินเวอร์เตอร์ (On Grid Inverter)

2. ออฟกริด อินเวอร์เตอร์ (Off Grid Inverter)

3. ไฮบริด อินเวอร์เตอร์ (Hybrid Inverter)

         ในนี้เราจะมาพูดถึงและเจาะลึกลงในโซล่าร์อินเวอร์เตอร์ทั้ง 3 ชนิดกัน อินเวอร์เตอร์นั้นมีบทบาทสำคัญในระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างมาก และถือเป็นสมองของระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบโรงงานระดับ 1 MW หรือ ระดับครัวเรือน 3 KW  ต่างต้องใช้อินเวอร์เตอร์ทั้งสิ้น ฟังก์ชั่นพื้นฐานของอินเวอร์เตอร์คือการแปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ซึ่งพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับเป็นมาตราฐานที่เราใช้ตามครัวเรือน อินเวอร์เตอร์จึงเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคานั่นเอง ก่อนที่จะติดตั้งระบบโซล่าร์รูฟท็อป จึงจำเป็นต้องรู้ว่าโซล่าร์อินเวอร์เตอร์ แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร เพราะจะได้เลือกอินเวอร์เตอร์ที่ดีที่สุดและเหมาะกับการใช้งานของบ้านหรือสำนักงานนั่นเอง

 


ออนกริด อินเวอร์เตอร์ (On Grid Inverter)

 



         ออนกริด อินเวอร์เตอร์ (On Grid Inverter) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Grid Tie Inverter ได้รับความนิยมและใช้งานกันมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งอินเวอร์เตอร์ชนิดนี้จะทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่แผงโซล่าร์เซลล์ผลิตได้ในตอนกลางวันเป็น พลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ(AC) และนำไปแจกจ่ายให้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อใช้งานในทันทีโดยไม่มีการกักเก็บเอาไว้ หากปริมาณการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าร์เซลล์ไม่เพียงพอต่อการใช้งานภายในบ้านในตอนที่แสงแดดอ่อน หรือ ในตอนกลางคืน อินเวอร์เตอร์จะดึงไฟฟ้าจาก ไฟฟ้าของภาครัฐ (Grid) มาใช้งานร่วมกัน เพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าในส่วนที่ผลิตไม่เพียงพอ และในกรณีที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าการใช้งาน หรือ เหลือจากการใช้งานของบ้าน อินเวอร์เตอร์จะดึงไฟฟ้าที่เหลือใช้กลับคืนไปให้การไฟฟ้า หรือก็คือการขายไฟฟ้าคืนให้ภาครัฐได้ด้วยนั่นเอง 

 

ออนกริด อินเวอร์เตอร์ On Grid Inverter เหมาะกับใคร?

          - อินเวอร์เตอร์ชนิดนี้เหมาะกับผู้ใช้งานที่ต้องการลดบิลค่าไฟเป็นหลัก และใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันในปริมาณมาก หรือต้องการเพิ่มมูลค่าให้บ้านเรือนหรืออาคาร ออนกริดอินเวอร์เตอร์ (On Grid Inverter) มุ่งเน้นไปที่การคุ้มทุนที่รวดเร็ว เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าทุกส่วนถูกนำไปใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการใช้งาน และการนำไปขายคืนให้กับภาครัฐ


          - อินเวอร์เตอร์ชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ใช้งานที่ต้องการกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิต ไว้ใช้ในเวลากลางคืน เพราะ ระบบผลิตไฟฟ้าใช้ทันทีไม่สามารถกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้ และ ไม่สามารถใช้งานได้หากไฟฟ้าจากภาครัฐเข้าไม่ถึงเพราะตัวอินเวอร์เตอร์เองยังต้องทำงานโดยใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐมาเลี้ยง รวมถึงระบบในตอนกลางคืนหรือขณะที่ไม่มีแสงแดดยังคงต้องใช้ไฟจากภาครัฐเป็นหลักอยู่

 

 

ออฟกริด อินเวอร์เตอร์ (Off Grid Inverter)

 



          ออฟกริด อินเวอร์เตอร์ (Off Grid Inverter) เป็นอินเวอร์เตอร์ที่แยกตัวการทำงานอิสระไม่ต้องพึงพาไฟฟ้าจากภาครัฐ ซึ่งระบบการทำงานคือนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าร์เซลล์ผ่านตัว Charge Controller ซึ่งจะคอยควบคุมการชารจ์ของแบตเตอรี่ ป้องกันการโอเวอร์ชารจ์ ควบคุมกระแสไฟการชารจ์ให้เสถียร และตรวจสอบสถานะของแบตเตอรี่ได้ เพื่อการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งในบางเจ้าจะมี Charge Controller อยู่ในตัวอินเวอร์เตอร์อยู่แล้ว อินเวอร์เตอร์บางเจ้าอาจจะต้องหาซื้อมาใส่แยก หลังจากกระแสไฟฟ้าผ่านตัว Charge Controller และตรงเข้าสู่แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บแล้ว อินเวอร์เตอร์จะดึงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาแปลงเป็น AC เพื่อใช้เลี้ยงการทำงานของอินเวอร์เตอร์ และ แจกจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆภายในบ้านเพื่อใช้งานต่อไป และ หากเหลือจากการใช้งานกระแสไฟฟ้าจะยังคงอยู่และถูกกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้งานต่อไป.



Off Grid Inverter เหมาะกับใคร?

          - อินเวอร์เตอร์ชนิดนี้เหมาะกับผู้ใช้งานที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และ ต้องการกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบโซล่าร์รูฟท็อปไว้ใช้ในเวลากลางคืน.


          - อินเวอร์เตอร์ชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีไฟฟ้าเข้าถึงอยู่แล้ว หรือ มีปริมาณการใช้ไฟเยอะๆเพราะต้องลงทุนสูงในด้านของแบตเตอรี่ ซึ่งแพงกว่าการใช้งานแบบ On Grid.

 

 


ไฮบริด อินเวอร์เตอร์ (Hybrid Inverter)

 



           ไฮบริด อินเวอร์เตอร์ (Hybrid Inverter) พูดให้เข้าใจง่ายๆคือระบบออนกริดผสมกับระบบแบตเตอรี่ โดยหลักการทำงานคือ นำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าร์เซลล์มาจ่ายผ่าน Charge Controller เพื่อนำเข้าไปกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ กรณีไฟฟ้าดับ อินเวอร์เตอร์จะดึงไฟฟ้ากระแสตรงจากแบตเตอรี่และแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อแจกจ่ายเข้าไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน  ทำให้ใช้ไฟฟ้าได้ไม่ขาดช่วงในภาวะไฟฟ้าดับ 

ข้อควรรู้ : อินเวอร์เตอร์ประเภทนี้สามารถแบ่งการทำงานออกเป็น 4 รูปแบบ

  • ในเวลากลางวัน กรณีที่มีการใช้ไฟมากกว่ากำลังการแปลงไฟของอินเวอร์เตอร์ อินเวอร์เตอร์จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์เซลล์โดยจะดึงไฟฟ้าจากสายส่งควบคู่เพื่อนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • ในเวลากลางวัน กรณีที่มีการใช้ไฟน้อยกว่ากำลังแปลงไฟของอินเวอร์เตอร์ ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงจะถูกนำไปใช้เสมือนระบบออนกริด
  • ในเวลาไฟฟ้าดับ และการใช้ไฟมากกว่ากำลังการแปลงไฟของอินเวอร์เตอร์ อินเวอร์เตอร์จะหยุดทำงาน และจะไม่มีการจ่ายไฟฟ้าจากระบบแบตเตอรี่ ดังนั้นการคำนวณโหลดไฟจึงสำคัญต่อการใช้ระบบไฮบริด 
  • ในเวลาไฟฟ้าดับ และการใช้ไฟน้อยกว่ากำลังการแปลงไฟของอินเวอร์เตอร์ อินเวอร์เตอร์ดึงไฟฟ้าแบตเตอรี่เข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าไปจนกว่าแบตเตอรี่จะหมด 
ข้อควรรู้ของระบบนี้ คือ การใช้ไฟฟ้าของระบบไฮบริด แบตเตอรี่จะทำงานก็ต่อเมื่อไฟฟ้าดับเท่านั้น


Hybrid On Grid Inverter เหมาะกับใคร?

- อินเวอร์เตอร์ชนิดนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าและต้องการไฟฟ้าสำรองไว้ใช้เวลาไฟดับ


-อินเวอร์เตอร์ชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มุ่งเน้นจุดคุ้มทุนเร็วเพราะราคาต้นทุนของแบตเตอรี่ยังค่อนข้างสูงในปัจจุบัน.

 

 

 


ราคาของอินเวอร์เตอร์

ราคาของ อินเวอร์เตอร์ ในปัจจุบัน พบว่ามีราคาหลากหลาย ตั้งแต่ราคาถูก เพียงไม่กี่พันบาท ไปจนหลายๆหมื่นบาท แต่ราคาสูง ก็จะรับประกันตัวเครื่อง 5 ปีซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐาน ซึ่งอินเวอร์เตอร์ราคาถูกจะไม่มีการรับประกัน และเนื่องจาก ระบบโซล่าร์รูฟท็อป มีอายุงานถึง 25 ปี ดังนั้นการรับประกันและคุณภาพของสินค้าแแต่ละชิ้นจึงมีความสำคัญมาก การใช้ของราคาถูกในระบบโซล่าร์รูฟท็อป จะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา และต้นทุนก็จะแพงกว่าการที่ใช้ของคุณภาพดีในระยะยาว

อายุการใช้งาน 

อายุงานของอินเวอร์เตอร์ที่มีคุณภาพส่วนใหญ่จะมีอายุงาน 10-15 ปี ดังนั้นในรอบการใช้ โซล่าร์รูฟท็อป ควรจะต้องเปลี่ยน อินเวอร์เตอร์ 1 ครั้ง และควรเลือกบริษัทที่มั่นคง เพื่อป้องกันปัญหาการเข้ากันไม่ได้ของ ระบบอินเวอร์เตอร์ กับ แผงที่ติดตั้ง

อินเวอร์เตอร์ อีฟ ไลท์ติ้ง 

อินเวอร์เตอร์ ของ อีฟ มีทั้ง 3 ระบบ เริ่มตั้งแต่  1.5 กิโลวัตต์,  3 กิโลวัตต์, 5 กิโลวัตต์ ชนิด 1 เฟส และ 3 เฟส, 10 กิโลวัตต์ ทุกรุ่นผลิตจากวัสดุคุณภาพ สามารถติดตั้งภายนอกได้ การระบายความร้อนดีเยี่ยม อายุการใช้งานยาวนาน 10-15 ปี โดยรับประกัน 5 ปี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้